เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin
จิสด้า จับมือ ญี่ปุ่น โชว์นวัตกรรมสุดเจ๋ง แทคเตอร์ไร้คนขับจากระบบ GNSS
ที่ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ภาคเอกชนและบริษัทผู้ประกอบการชั้นนำด้าน GNSS จากประเทศญี่ปุ่น โชว์สาธิตการใช้นวัตกรรมจากเทคโนโลยีระบบนำทางด้วยดาวเทียม หรือที่เรียกว่าระบบ GNSS กับระบบแทคเตอร์ไร้คนขับอัจฉริยะ ระบบงานก่อสร้าง ระบบขนส่งโดยรถยนต์ไร้คนขับ การสำรวจและการทำแผนที่แบบ 3 มิติ
ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศของจิสด้า กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จิสด้าเองต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่อง (CORS) และต้องการให้ผู้ประกอบการรวมถึงนักลงทุนชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศเชื่อมั่นว่าอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้าเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีศักยภาพสำหรับการจัดกิจกรรมแสดงนวัตกรรมต้นแบบ ด้าน GNSS สำหรับภารกิจต่างๆ
จิสด้า มีภารกิจในการสนับสนุนการวางฐานรากของประเทศ,การบริการข้อมูลสารสนเทศมาโดยตลอดรวมถึงการส่งเสริมให้เกิด ECO-System ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมแก่ประเทศ ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุน ต่อยอดนวัตกรรมด้าน GNSS ระหว่างหน่วยงานชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศ ให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวก ในการกำหนดพื้นที่ต้นแบบ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเขตนวัตกรรม (EECi) ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เพื่อให้เป็นพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) อย่างอิสระ เพื่อขยายผลไปสู่ระดับประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเชิงตำแหน่งความแม่นยำสูงในการพัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ ตั้งแต่บริษัทจัดตั้งใหม่ขนาดเล็ก (Startup) ขนาดกลาง (SME) ขนาดใหญ่ (Corporate) ผ่านการจัดเวทีการส่งเสริมเงินทุน องค์ความรู้ Joint Research และ Business Matching อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและความร่วมมือกับองค์กรอวกาศนานาชาติ ในการผลักดันเทคโนโลยีก้าวสู่เชิงพานิชย์ พร้อมทั้งยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาคอีกด้วย ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว