ชลบุรี - กลุ่มไทยออยล์ ร่วมกับ สมาคมกีฬาว่ายน้ำฯ และเทศบาลนครแหลมฉบัง สานต่อความร่วมมือโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ปีที่ 4 ประจำปี 2566

เขียนโดย Admin | | หมวดหมู่ , ,

   เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566  ที่ สระว่ายน้ำเทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พล.อ.ธนิส พิพิธวณิชการ ที่ปรึกษาสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ประธานบริหารโครงการพิเศษสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายจิระเมศร์ ธนกุลอธิโรจน์ ประธานภาคกลาง 1 นายอรรจน์ วิสุทธิถาวรวงศ์ ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ นายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ร่วมเปิดโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ประจำปี 2566


พล.อ.ธนิส พิพิธวณิชการ ที่ปรึกษาสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ประธานบริหารโครงการพิเศษสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยยังมีการสอนว่ายน้ำในโรงเรียนน้อยมาก และไม่ได้เป็นทักษะบังคับที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสและมีทุนทรัพย์น้อยว่ายน้ำไม่เป็น จึงถือเป็นอีกภารกิจสำคัญของสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยในการที่จะส่งเสริมทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ” 

สำหรับในพื้นที่แหลมฉบังนั้น ทางสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และเทศบาลนครแหลมฉบัง ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประชาชนและเยาวชนของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงได้ริเริ่มโครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่มีอายุ 6–15 ปี จำนวน 300 คน ได้มีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ทักษะการว่ายน้ำกับครูสอนว่ายน้ำที่เป็นบุคลากรของสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย และนิสิตจากมหาวิทยาลัยบูรพา ตามหลักสูตรที่กำหนด เพื่อช่วยลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเยาวชนไทยพร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำมากยิ่งขึ้น 

ด้านนายอรรจน์ วิสุทธิถาวรวงศ์ ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ รวมถึง การส่งเสริมทักษะกีฬาว่ายน้ำให้กับเยาวชนไทยเพื่อลดความเสี่ยงและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางน้ำ ในขณะเดียวกัน พื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งของกิจการของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้บริษัทฯ และเทศบาลนครแหลมฉบัง ตลอดจนชุมชนโดยรอบ เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดและได้ดำเนินความร่วมมือร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ ประจำปี 2566 ในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง ปีนี้เป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานชาวแหลมฉบัง ได้มีโอกาสฝึกฝนเรียนรู้ทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ภายใต้การสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ของเทศบาลนครแหลมฉบัง เพื่อให้โครงการนี้ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง” 


นายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง กล่าวว่า “โครงการช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ ในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเป็นต้นมา โดยเป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ได้ฝึกฝนทักษะการว่ายน้ำจากบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ ลดความสูญเสียในชีวิตของทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของสังคมไทย ซึ่งเทศบาลนครแหลมฉบังรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้สนับสนุนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ไปสู่แหล่งชุมชนเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข่าวอย่างทั่วถึง ตลอดจนได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว” 

โครงการ “ช่วยชีวิต ลดวิกฤตการจมน้ำ” ปีที่ 4 ประจำปี 2566 มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 9 เดือน ตั้งแต่ มกราคม ถึง กันยายน 2566 จัดการสอนว่ายน้ำโดยแบ่งการสอนให้กับเยาวชนอายุตั้งแต่ 7 –14 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา การจัดการเรียนจำนวน 10 ชั่วโมง โดยมีผลลัพธ์ที่คาดหวังคือเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ มีทักษะการว่ายน้ำที่ถูกต้อง เกิดกระบวนการเรียนรู้การช่วยชีวิตทางน้ำให้กับเยาวชนเพื่อเอาชีวิตรอดและลดอุบัติเหตุจากการจมน้ำในช่วงปิดเทอม ตามเกณฑ์ชี้วัดของหลักสูตรที่กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 โดยตั้งแต่ปี 2563-2565 มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน




ชลบุรี - การแข่งขันเต้นระดับโลก "UDO ASIA PACIFIC STREET DANCE CHAMPIONSHIP 2023" ไทยเป็นเจ้าภาพและจัดการแข่งขันที่ จ.ชลบุรี โดยมีทีมนักเต้นจาก 16 ประเทศเข้าร่วม

เขียนโดย Admin | | หมวดหมู่ , ,

   เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ที่  Si Racha Hall ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายประภัส เจริญสันติสุข รองนายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา พร้อมด้วย นายศรุต รัตนะวลีลิขิต เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา ,นายปิยะณัฐ ทิมกระจ่าง สมาชิกสภาเทศบาลเมืองศรีราชา และทีมบริหาร UDO Thailand Director of UDO Thailand รวมทั้งนายเอกสิทธิ อ่ำฉะอ้อน สมาชิกองค์การบริหารส่วน จ.ชลบุรี ได้ร่วมกันเปิดการแข่ง  "UDO ASIA PACIFIC STREET DANCE CHAMPIONSHIP 2023" ที่จัดโดยทีมไทยแลนด์ ระหว่างวันที่ 6-9 เม.ย.นี้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเต้นของเยาวชนไทยและสนับสนุนให้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งได้ออกกำลังกาย รู้จักการทำงานเป็นทีมและมีระเบียบวินัย นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของเยาวชนไทยให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมสนับสนุน

โดยในปี 2566 นี้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันของส่วนภูมิภาคเอเชีย  ภายใต้ชื่องานว่า "UDO ASIA PACIFIC STREET DANCE CHAMPIONSHIP 2023" ซึ่งมีตัวแทนจาก 16 ประเทศเข้าร่วมอาทิ ไทย ,ญี่ปุ่น ,ดูไบ ,สหรัฐฯ ,รัสเซีย ,เมียนมา ,เวียดนามฯลฯ

สำหรับ UDO : THE UNITED DANCE ORGANISATION คือองค์กรการเต้นสตรีทแดนซ์จากประเทศอังกฤษ ที่จัดการแข่งขันเต้น Street Dance UDO WORLD CHAMPIONSHIP และได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545  มีสมาชิกจาก 30ประเทศและได้จัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมและเชียร์ได้จนถึงวันที่ 9 เม.ย.นี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมร่วมแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะการแข่งขันในรุ่นต่างๆ ที่จะมีการประกาศผลในวันสุดท้ายของการจัดงาน

โจ ลำน้ำปิง/รายงาน 

ชลบุรี - กทท. เปิดตัว LINE OA “PAT Connex” คลิกเดียวครบจบทุกบริการ

เขียนโดย Admin | | หมวดหมู่ , ,

   นายเกรียงไกร ไชยศิริวงส์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมผู้บริหาร และพนักงาน กทท. เข้าร่วมงานเปิดตัว LINE OA “PAT Connex” ภายใต้คอนเซ็ป “One Click – PAT Connex”  เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับผู้ใช้บริการและประชาชนให้สามารถเชื่อมโยงสื่อสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


โดยภายในงานมีการแนะนำการใช้งานที่เข้าถึงข้อมูลการบริการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนในที่เดียว ทั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมเจ้าท่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมทางหลวง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนทีมประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม ฯลฯ กรมศุลกากร ผู้แทนบริษัทสายการเดินเรือ บริษัทผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) บริษัทผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ผู้แทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ EEC สมาคมและสมาพันธ์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ผู้ใช้บริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานฯ ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.


“การท่าเรือฯ มีความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ โดยเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ไทย ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการเชื่อมต่อทั้งจตุรภาคีได้แก่ ภาครัฐเอกชน ชุมชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและเครือข่ายต่างประเทศ สำหรับ line OA PAT Connex เป็นช่องทางการสื่อสารที่พร้อมให้บริการทุกภาคส่วนด้วยปลายนิ้ว สามารถติดตามสถานะตู้สินค้าด้วยเมนู BKP Tracking สามารถเชื่อมต่อตารางเดินเรือ

เพื่อตรวจสอบการเข้าออกของเรือสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งสามารถคำนวณอัตราค่าภาระและค่าบริการได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และท้ายนี้ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมเป็นสมาชิก Line OA PAT Connex ได้ที่ https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=patconnex  ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว



โจ ลำน้ำปิง/รายงาน

นครสวรรค์ - รมต.อนุชา เดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจฐานรากเปิดโครงการ “โคล้านครอบครัว”หวังให้สมาชิกกองทุนฯ มีรายได้ จับเงินแสนเงินล้าน มีความมั่นคงในครอบครัว

เขียนโดย Admin | | หมวดหมู่ , ,

   เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ โรงเรียนอนุบาลลาดยาว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จัดโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) โดยมี นายสุวัฒน์ จันทร์สุข ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ นายกฤษณ์พีรัช คมสุรศิษฐ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ ร่วมงาน


นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญ และเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ 79,610 แห่ง มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 13 ล้านคน  นับว่าเป็นกำลังหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ จึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 21 ปี และก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ มีนโยบายที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสำเร็จแล้ว อาทิ โครงการพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ โครงการนำร่อง ตามโมเดลเศรฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านฯ และโครงการสำคัญที่จะทำให้พี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กลับมาลืมตาอ้างปากได้ กินดี อยู่ดี มีความสุข มีรายได้ และหายจากความยากจน ผ่านโครงการ “โคล้านครอบครัว” 

นายอนุชา ย้ำการเลี้ยงโค ทำได้ไม่ยาก สามารถคืนทุนได้เร็ว ประชาชนสามารถปลดหนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า การทำปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค จะเป็นทางออกที่ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะโคเลี้ยงไม่ยาก กินแต่หญ้า ภายใน 1 ปีโคออกลูก สามารถทำเงิน ปลดหนี้ได้ ปีต่อ ๆ ไป จะมีจำนวนวัวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หากเลี้ยงดีๆ พี่น้องกองทุน ฯ มีโอกาสร่ำรวย ได้จับเงินล้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาล คาดหวังให้เศรษฐกิจฐานรากมีเงินหมุนเวียนในครัวเรือนเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต  ขอให้พี่น้องสมาชิกกองทุนฯ ชาวนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง มีความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ จะเงินแสนหรือเงินล้านก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

ทางด้านนายกิตติพจน์ โตสินธุ์ ตัวแทนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จ. นครสวรรค์ กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมโครงการเลี้ยงโค ถือเป็นโครงการที่ดี สร้างความมั่นคงให้กับชาวบ้าน และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มีความแน่นอน ถ้าเทียบกับการทำอาชีพเกษตรชนิดอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่อาชีพเลี้ยงโค เป็นอาชีพที่ทำได้ง่าย เหมาะกับบริบทและสังคมของพี่น้องตามชนบทต่างๆ 

สำหรับการจัดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ในวันนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 2  ถือเป็นเวทีแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกกองทุน ฯ และประชาชนที่สนใจ ส่งต่อแนวคิดสู่กองทุนหมู่บ้าน ฯ ในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เพื่อพัฒนาทักษะโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาการบริหารงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งการจัดงานในวันนี้ มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน จาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี เข้าร่วมงาน 

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น เสวนากองทุนหมู่บ้านต้นแบบ "ทำแล้ว ทำง่าย ทำได้...ไม่ยาก"  โดยโครงการแพบางพระหลวง กองทุนหมู่บ้านท่าดินแดง หมู่ที่ 2 ตำบลบางพระหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์  ที่มีการใช้พื้นที่ “หนองต้น” สร้างแหล่งท่องเที่ยว โดยการสร้างแพลอยน้ำ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Upskill เรื่อง “โครงการโคล้านครอบครัว” จากผู้เชี่ยวชาญ, กิจกรรม Business Matching เพื่อต่อยอดโอกาสทางการค้า และกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่องค์ ความรู้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาชุมชนเมืองของตนอย่างยั่งยืนต่อไป โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 เมษายน 2566 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอเชิญชวนพี่น้องกองทุนฯ ชาวนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อจะได้รับความรู้นำจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ และผู้เชี่ยวชาญไปพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป





ต้อย นครสวรรค์/รายงาน