เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin

ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พัฒนาการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ช่วยลดปัญหาจราจร - ประหยัดพลังงาน (มีคลิป)


     ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เดินหน้าพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งทางรางเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนการขนส่งทางบก เพื่อประหยัด พลังงาน- แก้ปัญหาจราจร


     เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2561 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการดำเนินโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมี ร.ต.ต. มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย , เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมในพิธี

เรือโทยุทธนา กล่าวว่าโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 โดยมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการฯ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ในพื้นที่ 600 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างท่าเทียบเรือชุด BและชุดC โดยมีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าได้มากถึง 28,000 ทีอียู โดยมีลักษณะเป็น Rail Yard ที่มีการติดตั้งรางรถไฟที่มีลักษณะเป็นพวงราง จำนวน 6 ราง เพื่อให้สามารถจอดขบวนรถไฟและรางละ 4 ขบวน รวม 8 ขบวน และยังมีการติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง ที่ทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 รางในเวลาเดียวกันอีกด้วย


สำหรับโครงการดังกล่าวมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น รวมทั้งติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับและเชื่อมต่อกับโครงการการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากสถานีรถไฟแหลมฉบังเข้าสู่พื้นที่โครงการ ระยะทางประมาณ 4.3 กิโลเมตร และมีเป้าหมายแผนการลงทุนในโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เพื่อรองรับตู้สินค้าได้ถึง 1 ล้าน TEU ต่อปี


ส่วนระยะที่ 2 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 2 ล้านทีอียูต่อปี และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ด้วยระบบรางได้ถึง 25 % ในอนาคต

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร กล่าวว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนเป็นทางราง เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมทั้งลดปัญหาการจราจรที่แออัด และสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็ว

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นมติใหม่ในการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยต่อเชื่อมระบบรางเข้ากับระบบเรือ ซึ่งจะมีขบวนรถไฟที่บรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จากลาดกระบัง ปีละ 1-2 ล้านตู้ จากนั้นตู้สินค้า จะถูกขนถ่ายลงสู่เรือเดินทะเล ซึ่งการขนส่งสินค้าด้วยวิธีดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาความแออัดบนท้องถนน และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการขนส่งทางรถไฟจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก


ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง รองรับการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในอนาคต ที่จะมีโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 เปิดดำเนินการด้วย


“ การเปิดโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟครั้งนี้ จะเป็นการลดการขนส่งสินค้าทางถนนได้มาก เนื่องจากรถไฟ 1 ขบวนสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้ 40 ตู้ ดังนั้นจากนี้ไปเราจะสามารถลดจำนวน รถหัวลากบนท้องถนนได้ถึง 40 คันต่อวัน นอกจากนั้นการเดินทางจากไอซีดีลาดกระบังมาท่าเรือแหลมฉบัง จะใช้เวลาเพียง 1ชั่วโมงเศษขณะที่ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้สินค้าผ่านท่ามากถึง 7 ล้านตู้ และโครงการดังกล่าวจะแชร์ตู้สินค้ามาขนส่งด้วยระบบรางได้มากถึง 20% ของจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดด้วย ”นายไพรินทร์ กล่าว






โจ ลำน้ำปิง/รายงาน
นสพ.รวมพลัง ศูนย์ข่าวชลบุรี

หนังสือพิมพ์รวมพลัง | รวมพลัง ทีวี

เขียนโดย Admin เวลา 18:37:00. หมวดหมู่ , , , . แจ้งข่าวสาร / ร้องทุกข์ หรือต้องการติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ คลิกที่นี่

สนับสนุนข่าวโดย ท่าเรือLCB ฮักเกอร์ Makro paitoon สโมสรโรตารี ไทยออยล์ ปตท. SCG