เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin
ศิลปินแห่งชาติ เดินหน้าทวงถามหางานศิลป์ ที่ถูกทิ้งลืมในหอศิลป์ฯ ม.บูรพา
“ดร.กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ทวงถามงานศิลปะจากผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินมีชื่อระดับประเทศ และศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งถูกทิ้งลืมใน “หอศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันออก ม.บูรพา” ซ้ำไม่เคยถูกนำเผยแพร่และจัดแสดงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนในภาคตะวันออก เผยบางชิ้นงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ค่ากว่า 10 ล้านบาท เช่นเดียวกับผลงานของศิลปินหลายท่านที่หากนับรวมแล้วมูลค่ามากกว่าอาคารทั้งหลัง แต่กลับถูกทิ้งไร้ค่าในห้องเก็บของ
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) แกนนำคนสำคัญในการเชิญกลุ่มศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านงานศิลปะระดับนานาชาติ ร่วมสร้างผลงานศิลปะมอบให้กับ “หอศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันออก ม.บูรพา” เพื่อใช้จัดแสดงสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาศิลปะให้กับนิสิตของมหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษา และผู้ที่สนใจงานศิลปะในภาคตะวันออกว่า การเดินทางมายัง มหาวิทยาลัยบูรพาในครั้งนี้ ก็เพื่อทวงถามหางานศิลปะของศิลปินผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ที่ถูกทิ้งร้างไว้ในห้องเก็บของและไม่ได้รับการเก็บรักษาตามวิธีที่ถูกต้อง หรือนำออกเผยแพร่ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหอศิลป์ฯ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อครั้ง นายชวน หลักภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายให้ทุกภูมิภาคมีหอศิลปะ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และระดับท้องถิ่น
“หอศิลป์ฯแห่งนี้ถือเป็นตัวแทนของ ม.บูรพา ซึ่งการสร้างหอศิลป์ฯ แต่ละแห่งล้วนใช้งบประมาณแผ่นดิน และมีการเชิญอาจารย์จากทุกมหาวิทยาลัย เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาหอศิลป์ฯ ให้สอดคล้องกับสากล และได้มีการเชิญศิลปินแห่งชาติ, ศิลปินนานาชาติที่มีชื่อเสียงของโลก และศิลปินในท้องถิ่นมาร่วมกันสร้างงานศิลปะเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ของมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษา โดยเฉพาะเมื่อครั้งในหลวง ร.๙ เจริญพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ศิลปินใน 72 จังหวัด ก็ร่วมกันทำงานศิลปะต้นแบบทั่วประเทศไทย ดังนั้นข้อมูลและมูลค่าของศิลปะที่ศิลปินจากนานาชาติ รวมกันจัดทำจึงถือว่ามีมูลค่ามหาศาล” ดร.กมล ยังบอกอีกว่าหากนับรวมมูลค่าของศิลปะแต่ละชิ้นที่ศิลปินมอบให้กับหอศิลป์ฯ แห่งนี้นับว่ามหาศาล โดยเฉพาะงานของ อ.ถลัวย์ ดัชนี ที่ล่วงลับ ซึ่งมอบให้กับหอศิลป์ฯ ม.บูรพา บางชิ้นมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท ไม่นับรวมงานศิลปะของ อ.ปรีชา เถาทอง, อ.เดชา วราชุน และศิลปินอีกหลายท่านทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อรวมมูลค่ากันแล้วน่าจะสูงกว่างบประมาณในการก่อตั้งหอศิลป์ฯ ม.บูรพา ที่มีจำนวน 70 ล้านบาท
“แต่งานศิลปะเหล่านี้กลับไม่ถูกนับออกเผยแพร่ จึงถือว่าผิดจุดประสงค์ของการก่อสร้างหอศิลป์ฯ ภาคตะวันออก ซึ่งศิลปินหลายท่านก็รู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากได้ตั้งใจร่วมกันสร้างงานศิลปะของชาติให้กับ ม.บูรพา แต่สุดท้ายกลับถูกเก็บตายไว้ในห้องเก็บของ มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น ทั้งที่หอศิลป์ฯ แห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม และมีห้องจัดแสดงอยู่แล้ว แต่กลับไม่เปิดให้ประชาชนและนักศึกษาที่เรียนศิลปะ ทั้งในระดับ ป.ตรี, ป.โท และเอก ได้เรียนรู้และเห็นผลงานที่มีคุณค่า ดังนั้นในวันนี้จึงต้องมีการดำเนินการเพื่อชุบชีวิตหอศิลป์ฯ แห่งนี้ และงานของศิลปินท่านต่างๆ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รวมทั้งทางมหาวิทยาลัย จะต้องมีห้องเก็บรักษาชิ้นงาน และนำผลงานต่างๆ ออกแขวนและจัดแสดง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้ชื่นชม ซึ่งก็จะสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยอีกทาง เพราะไม่ใช่ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีงานศิลปะที่มีคุณค่าแบบนี้ ”ดร.กมล กล่าว"
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุชาติ เถาทอง ประธานหลักสูตรทัศนศิลป์และการออกแบบคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า หลังได้รับการท้วงติงจากศิลปินแห่งชาติ เรื่องการไม่นำงานศิลปะจากศิลปินชื่อดังต่างๆ จัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปะ ในหอศิลป์ฯ ม.บูรพา ก็ได้มีการหารือร่วมกันกับอธิการบดี, รองอธิการบดี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายของ ม.บูรพา จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลงานศิลปะเหล่านี้ ทั้งในรูปของการจัดการให้หอศิลป์ฯ กลับมามีชีวิต ทั้งในรูปของการจัดการพื้นที่ให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้เสริมให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ หลังจากที่พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้าง และปล่อยปละละเลยมานานนับ 10 ปี และเมื่อได้คณะทำงานแล้ว ก็จะต้องวางแผนอย่างเป็นระบบในการดูแลหอศิลป์ฯ และงานศิลปะทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องทำให้เป็นหน่วยงานที่มีการดูแลอย่างเป็นระบบ และมีงบประมาณสนับสนุนในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยหรือฝากไว้กับคณะอื่นๆ อย่างที่เป็นอยู่ เพื่อให้งานศิลปะสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของศิลปินที่มอบผลงานแต่ละชิ้นให้ และจะต้องถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านวิชาการ และการศึกษาศิลปะในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเป้าหมายของนายกฯ ชวน หลีกภัย และอดีต ส.ส.ชลบุรี ทั้งหลายที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าอย่างช้าไม่เกิน 2 เดือนนี้ เราจะสามารถนำผลงานต่างๆ จัดแสดงเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการได้” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุชาติ กล่าว
โจ ลำน้ำปิง/รายงาน
เกรียงไกร สิงหไพศาล/ภาพ-ข่าว