เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) จัดสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ "สวัสดิภาพสัตว์จะเป็นอย่างไรในยุค 4.0"
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 นายธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร นายสัตว์แพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ยันต์ สุขวงศ์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ได้จัดงานสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2560 ในหัวข้อ "สวัสดิภาพสัตว์จะเป็นอย่างไรในยุค 4.0 " โดยมีองค์กรเครือข่ายผู้รักสัตว์ ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วทั้งประทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบังคับการตำรวจน้ำ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อนช้าง ด่านกักสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัดต่างๆ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตว์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สหกรณ์เครือข่ายโคเนี้อ ล้านนาด็อก ชมรมปลาทะเลไทย เป็นต้น ร่วมประชุมสัมมนาระหว่าง วันที่ 3 - 4 มิถุนายน ณ โรงแรม เคปราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
นายธีระพงศ์ เปิดเผยว่า "สมาคมฯ ดำเนินงานด้านป้องกันการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์มาโดยตลอด กว่า 23 ปี โดยได้ริเริ่มและผลักดันกฏหมายเพื่อสวัสดิภาพสัตว์และป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งประกาศเป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 อย่างไรก็ตามกว่า 2 ปี ที่ผ่านมาก็มีบทพิสูจน์ว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้จริงซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ดีของสังคมในระดับหนึ่ง แต่กฏหมายก็เป็นแค่เครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม เจตนาและจิตสำนึกของคนที่มุ่งกระทำผิดจนเป็นนิสัยได้ เราทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ปลูกจิตสำนึกแห่งความเมตตา เปลี่ยนค่านิยมในด้านการทารุณกรรมสัตว์และร่วมปฏบัติตามกฏหมาย ช่วยกันสอดส่องดูแลให้กฏหมายฉบับนี้มีส่วนช่วยเหลือสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมและทำให้เกิดการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน
สมาคมฯ พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น มีวิทยากรจากทั้งหน่วงงานภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ ร่วมกันแสดงบทบาท ความคิดเห็น ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ในด้านต่างๆ อันจะเกิดประโยชน์ทำให้เกิดการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปสู่องค์กรที่เป็นสากลได้รับการยอมรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ"
"สวัสดิภาพสัตว์" เป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมานานมากแล้ว แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจ และสำนึกด้านสวัสดิภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้อง นับจากคนเลี้ยงสัตว์ เจ้าของสัตว์ ประชาชน เยาวชน ยังนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่พบเห็นในสังคมปัจจุบัน สวัสดิภาพสัตว์ หมายถึง "ความสุขกาย สบายใจของสัตว์" คือ มีสุขภาพร่ายกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในขณะเดียวกันต้องมีสุขภาพร่างกายที่ดี คือ สบายใจ แจ่มใส ไร้ความเครียด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถแยกออกจากกัน จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ความไม่สมดุลจะทำให้เสียซึ่งสวัสดิภาพของสัตว์
รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของการจัดงานสัมมนาฯ ได้จัดกิจกรรม แชร์ ไลค์ ได้บุญ "ปล่อยนก บุญ หรือ บาป?" ทางยูทูปของสมาคมฯ เพื่อเป็นการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ได้เห็นถึงคุณค่าและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปล่อยนกว่าเป็นบุญหรือบาป การจับหรือปล่อยนกก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญแม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาแต่วิธีการจับนกเพื่อปล่อยนั้น เป็นการสนับสนุนวงจรธุรกิจค้าชีวิตนก อันจะนำมาสู่การทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพที่ไม่เหมาะสม
อีกทั้งนกบางชนิดก็เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การล้าหรือครอบครอง และการค้าก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16,19,20 ประกอบมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สี่ปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และการจับนกด้วยวิธีการทารุณและดูแลจัดสวัสดิภาพไม่ดี ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 31 การทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการจัดสวัสดิภาพนกไม่เหมาะสมก็เป็นความผิดตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 32 ต้องระวางโทษไม่เกิน สี่หมื่นบาทอีกด้วย
โจ ลำน้ำปิง/รายงาน