ชลบุรี - กลุ่มไทยออยล์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ให้เยาวชนรอบโรงกลั่น
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มไทยออยล์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความรู้ให้เยาวชนรอบโรงกลั่น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 โดยร่วมมือกับมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ผลักดันให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นให้นักเรียน? คุณสาวิตร จิตรประวัติ ผู้จัดการบริหารงานชุมชน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มไทยออยล์ได้เห็นความสำคัญของการศึกษา และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเยาวชนรอบโรงกลั่น โดยที่ได้ผ่านมาทางกลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านหลากหลายกิจกรรม ตั้งแต่การมอบทุนการศึกษา การพัฒนาทักษะและเสริมสร้างความรู้ รวมถึงในเรื่องของการกีฬา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21
โดยล่าสุด กลุ่มไทยออยล์ได้สนับสนุนโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กับมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนรอบโรงกลั่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจ และความกระตือรือร้นให้นักเรียน โดยได้ให้การสนับสนุนการสรรหาและอบรมครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นางสาวสุวิภา ตรีสุนทรรัตน์ (ครูจ๊ะเอ๋) ทำหน้าที่สอนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และนางสาวแพรวพรรณ วาสวกุล (ครูจ๋า) ทำหน้าที่สอนสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ
เพื่อพัฒนาการเรียนรู้โดยตรงแก่นักเรียน สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน โรงเรียน และชุมชน ณ โรงเรียนวัดมโนรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงตุลาคม 2563 และล่าสุด กลุ่มไทยออยล์ได้สนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยขยายระยะเวลาไปจน ถึงตุลาคม 2564 เพื่อสานต่อการพัฒนาการศึกษาและเพิ่ม โอกาสในการพัฒนาตนเองของเยาวชน
คุณสาวิตร จิตรประวัติ กล่าวอีกว่า จากการประเมินผลดำเนินงาน ของครูผู้นำฯ ใน 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีนักเรียนระดับชั้น ป.5 ป.6 ม.1 ม.2 และม.3 จำนวน 450 คนได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษกับครูจ๋า และนักเรียนป.3 ป.4 ม.1 ม.2 จำนวน 418 คนได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์กับครูจ๊ะเอ๋ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งสองวิชา แสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง
นางสาวแพรวพรรณ วาสวกุล หรือ ครูจ๋า เล่าว่า รู้สึกขอบคุณ เพราะประสบการณ์จากการทำงานในบทบาทครูเกินกว่าที่เราคิดไปมาก จากมุมมองที่เคยเป็นนักเรียน เราเห็นหน้าที่ครูแค่สอนหนังสือและให้เกรด แต่พอมาเป็นครูจริงๆ เรากลับได้เห็นว่ากว่าจะสอนได้ ครูเตรียมเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่เตรียมด้านเนื้อหา ครูต้องรู้ว่าทักษะชีวิตด้านไหนที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน เพื่อที่จะได้บอกได้เสริมลงไปในการสอนแต่ละครั้ง เพราะเด็กแต่ละคนเติบโตมาจากคนละครอบครัว และส่วนที่ช่วยเติมจากครอบครัวให้เด็กสมบูรณ์พร้อมกับการเผชิญสิ่งต่างๆ ในสังคมได้ด้วยตนเองคือ ครูและโรงเรียน
ผลที่เด็กๆ ได้จากโครงการนี้ นอกเหนือจากความสามารถทางวิชาการแล้ว คิดว่าเด็กหลายคนได้ความเชื่อมั่นในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่าง ๆ จะย้ำในห้องเรียนเสมอว่า “ตอบมาก่อน ผิดถูกไม่เป็นไร” เพื่อให้เด็ก ๆ กล้าที่จะตอบ เพราะครูเชื่อว่าห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่การเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นได้ทั้งจากสิ่งที่ตอบถูกและผิด ภายในห้องเรียนของเราเด็กมีสิทธิและเสียง เราโหวตเสมอเมื่อหาข้อตกลง เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม และเป็นพื้นฐานให้เด็กรู้จักเคารพในสิทธิของผู้อื่นด้วย
ครูจ๋า ยังบอกอีกว่า การศึกษาแบบโรงงานที่ผลิตคนออกมาให้เหมือนกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมกำลังจะกลายเป็นการศึกษาที่ไม่เหมาะสมต่อความเป็นจริง และความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่อีกต่อไป ตนเองเชื่อว่าวิธีสร้างการศึกษาที่ดีหลังจาก นี้คือการส่งเสริมให้ผู้เรียน “ทำเป็น” มากกว่า “แค่รู้” ดังนั้นแนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ ที่กำลังพยายามขับเคลื่อนกันตอนนี้จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษาที่ค่อนข้างตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่