เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin

EECi แฟร์เปิดฉากยิ่งใหญ่ วท.ชูธงใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม คาดมีผู้เข้าร่วมงานทะลุกว่า 10,000 คน (มีคลิป)


   เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเอกชนในพื้นที่จัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “EECi แฟร์” มุ่งเป้าใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมนุษย์ เป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกตามนโยบายรัฐบาลอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างเต็มกำลัง โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน คาดว่าตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วันจะสามารถดึงผู้ประกอบการทุกระดับ นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนทั่วไปร่วมงานได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน


โดยงาน EECi แฟร์ ครั้งนี้จัดขึ้นตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลในการมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน/ โอทอปรุ่นใหม่ โดยการบูรณาการร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนด้านการพัฒนามาตรฐาน การสนับสนุนทางการตลาด พร้อมทั้งสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเล็งเห็นว่าการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และกำลังคนของประเทศและภูมิภาค ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาทุกมิติของประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในส่วนของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการนำพาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาพื้นที่ EEC ไม่ได้จำกัดเป้าหมายแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ด้านกฎหมายกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการยกระดับรายได้และมีความเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ท้าทายในการพัฒนาพื้นที่ EEC คือการพัฒนาภาคการเกษตรและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC มากที่สุดทั้งในส่วนของการใช้ทรัพยากรน้ำ ดิน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจากการพัฒนา ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้มากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อหาจุดร่วมที่สมดุลย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก


อย่างไรก็ตาม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตระหนักอยู่เสมอว่า อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP เป็นพื้นที่นวัตกรรมใหม่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสมที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ รวมถึงสร้างให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยและอาเซียนให้เกิดขึ้นด้วย ทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เป็นการนำพาประเทศไปสู่ประตูแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อันเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ดร.สุวิทย์ กล่าว

ทางด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า พื้นที่ EEC เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญของรัฐบาลเพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการพัฒนาประเทศระยะยาว ทำให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มีความตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ และเอกชน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้จะมีโครงการเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งอาจจะไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประสาน และดูแลเรื่องนี้โดยตรง คือ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกรศ. ที่จะทำหน้าที่ในการรวบรวม ประเมินวิเคราะห์ต่างๆ และเสนอแนะเป็นนโยบายให้กับประเทศ โดยจิสด้าเองจะทำงานร่วมกับ สกรศ. อย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว

 การที่ EEC เป็นโครงการขนาดใหญ่ทำให้ภาคประชาชน ภาคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงเศรษฐกิจฐานรากหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ทะเล ชายฝั่ง ทรัพยากรน้ำ และอื่นๆ ดังนั้น การที่เราจะวิเคราะห์เรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ เราจะไม่ใช้กลไกเดิมๆ ได้อีกต่อไป เนื่องจากกลไกในรูปแบบเดิมนั้นจะเน้นที่การเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเป็นหลัก แต่โครงการนี้จะมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย และอาจจะมีเป็นหมื่นโครงการ ดั้งนั้น เราจึงต้องมีระบบที่เป็นกลไกในการมาสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และหาผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ระบบที่ว่านี้ต้องมี intelligence เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิสด้าจะทำในวันนี้ คือเราจะพัฒนาระบบที่มี intelligence policy platform คือ เป็นระบบที่ใช้ปัญญาของมนุษย์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาผสมผสานกัน เพื่อเสริมหรือทดแทนกลไกเดิมๆ ที่เราเคยใช้กัน เช่น การจัดประชุม เป็นต้น ระบบนี้นอกจากจะช่วยย่อยและสังเคราะห์ข้อมูลแล้ว ยังทำให้มนุษย์สามารถมองได้รอบด้านอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวางแผน และการตัดสินใจ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงที่เราเรียกว่า actionable 


 ดังนั้น สิ่งที่จิสด้าพยายามผลักดันร่วมกับ สกรส. คือการทำให้พื้นที่ EEC มี actionable intelligence policy platform หรือ AIP platform นั่นเอง สิ่งที่เรากำลังทำเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องมี Thailand 4.0  

ดร.อานนท์ฯ ยังกล่าวอีกว่า Thailand 4.0 เราต้องเดินหน้าโดยใช้นวัตกรรมของเราเอง เพราะฉะนั้น AIP platform จึงเป็นนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในระยะแรกๆ อาจจะมีการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศด้วยแต่จะเป็นการเชื่อมโยงกันและกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีในเรื่อง intelligence ซึ่งมีการใช้กันมากในเทคโนโลยีทางการทหาร แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง เราจึงเอา intelligence นี้มาใช้ในการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งภายใน 6 เดือนนี้ จะสามารถใช้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นว่านวัตกรรมของเราสามารถทำได้จริง และประมาณ 2 ปีนับจากนี้ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดความเข้าใจและยอมรับ โดยเราไม่ต้องไปใช้ทางกายภาพแบบเดิมๆ

สำหรับงาน EECI แฟร์ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ SKP ในครั้งนี้ จิสด้ามีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน เราจึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายกลุ่ม หลายอาชีพ ซึ่งจะสามารถเห็นได้ชัดว่าไม่ได้มีแต่หน่วยงานราชการ แต่ยังมีหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน การจัดสรรที่ดิน พัฒนาที่ดิน กลุ่มชาวบ้าน กลุ่ม OTOP กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ โดยภายในงานมหกรรม EECi แฟร์ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ “นิทรรศการอนาคต EEC ในอีก 20 ปีข้างหน้า” “การแสดงสินค้านวัตกรรมโอทอปในพื้นที่ EEC” “สัมมนาผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน (บ.ว.ร. 4.0) ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” “การเสวนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งด้วยความแม่นยำสูงนิยามใหม่เพื่อสังคมแห่งอนาคต” “กิจกรรมแข่งขันนักวางแผนและพัฒนา EEC และจังหวัดภาคตะวันออก ระดับ เยาวชนครั้งที่ 2 ชิงโล่เกียรติยศนายกรัฐมนตรี”  และ “การแข่งขันโครงการอาชีวะสร้างชาติเกษตรอัฉริยะ” เป็นต้น เราตั้งเป้าว่าตลอดการจัดงาน 5 วันจะมีผู้เกี่ยวข้องมาร่วมไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ที่จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ รวมทั้งแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปออกแบบ  AIP platform เพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริง จริงๆ แล้ว อยากจะให้มองว่า EEC ไม่ได้เป็นแค่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น หากท่านมีข้อเสนอด้านใดที่สามารถจะแสดงความคิดเห็นออกมาได้ ซึ่งภายในงานเราได้จัดพื้นที่สำหรับแสดงความคิดเห็นไว้ด้วย 
เรากำลังจะปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ให้กับประเทศ เราต้องยอมรับว่าตอนนี้เราอยู่ในยุค BIG DATA เราไม่สามารถใช้มนุษย์ในการตัดสินใจได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบต่างๆ ให้มีความฉลาด มีปัญญา ที่จะสามารถคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และวางแผน เพื่อการตัดสินใจและนำไปใช้งานจริงได้ด้วย สำหรับการจัดงาน EECi แฟร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 มกราคม 2561 โดยแต่ละวันจะมีไฮไลท์อยู่ที่การเสวนา และการจัดกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่ไม่ควรพลาด ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ท่านที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 038-491-682 หรือ 038-491-683 ดร.อานนท์ ฯ กล่าว

โจ ลำน้ำปิง/รายงาน

หนังสือพิมพ์รวมพลัง | รวมพลัง ทีวี

เขียนโดย Admin เวลา 20:08:00. หมวดหมู่ , . แจ้งข่าวสาร / ร้องทุกข์ หรือต้องการติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ คลิกที่นี่

สนับสนุนข่าวโดย ท่าเรือLCB ฮักเกอร์ Makro paitoon สโมสรโรตารี ไทยออยล์ ปตท. SCG