เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี ศิลปกรรมโบราณสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ควรไปสักการะเพื่อเป็นมงคลชีวิต
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ใกล้กับศาลาฟังธรรม ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ศาลฯ นี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน จากคำบอกเล่าและสันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ใกล้เคียงกับวัดใหญ่อินทรารามกับศาลาฟังธรรม ทั้งสามนี้ได้ขึ้นเป็นศิลปกรรมโบราณสถานของจังหวัดชลบุรี
ในสมัยก่อนนั้น ตำบลบางปลาสร้อย เป็นตำบลที่มีชุมชนอยู่หนาแน่นกว่าชุมชนในตำบลอื่นๆ ในจังหวัดชลบุรี มีตลาดการค้าใหญ่ เรียกกันว่า "ท่าเกวียน" ซึ่งอยู่ระหว่าง วัดใหญ่อินทราราม วัดต้นสน และศาลาฟังธรรม ชาวป่า ชาวไร่ ชาวสวน จะนำผลิตผลของตนมาขายที่ตลาดนี้ แล้วก็ซื้อสิ่งของที่ต้องการกลับไป ทีนี่จึงเป็นที่นัดพบของผู้มีเกวียน มีควาย จึงเป็นจุดที่ก่อให้เกิด ประเพณีวิ่งควายครั้งแรกของจังหวัดชลบุรี ผลิตผลที่นำมาขายนี้ พ่อค้าก็ซื้อนำใส่เรือ (เรือใบ เรือแจว) ไปขายยังต่างจังหวัดต่อไป
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี ตั้งอยู่เชิงสะพานยาว หันหน้าศาลลงทะเล ข้างศาลฯ จะมีต้นโพธิ์ใหญ่ ๑ ต้น หลังศาลฯ จะมีบ่อน้ำ ๑ บ่อ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อศาลเจ้า หน้าศาลฯ จะมีสะพานพุ่งตรงไปทะเล สะพานนี้มีชื่อเรียกกันว่า สะพานยาว สะพานนี้ยาวกว่าจะพานอื่นๆในสมัยนั้น จึงเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าติดต่อไปมากับต่างจังหวัดอีกด้วย ต่อมาสะพานได้ถูกรื้อถอนไป กลายเป็นซอยมีชื่อใหม่ว่า ซอยฑีฆามารค ซึ่งแปลว่า ทางยาว ความหมายเหมือนเดิม
เดิมศาลฯ นี้จะมีงานประจำปี ประเพณีการกองข้าว เข้าทรงในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ เป็นเวลาติดต่อกัน ๓ วัน ตอนเย็นมีการเข้าทรงทำพิธีกองข้างที่ข้างคลองบางปลาสร้อย ประเพณีการกองข้าว เริ่มจากศาลฯ นี้เป็นแห่งแรกของจังหวัดชลบุรี
ศาลเจ้าพ่อเมืองชลบุรี
บูรณะครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๙๒ ด้วยงบประมาณของเทศบาลเมืองชลบุรี เป็นเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
บูรณะครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙ - ๒๕๔๒ ด้วยงบประมาณของประชาชนร่วมกันบริจาค รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน)
ขอให้ บารมีของเจ้าพ่อฯ จงคุ้มครองพี่น้อง ประชาชนที่มาสักการะบูชา และร่วมกันบริจาค เพื่อบูรณะศาลฯ จงมีแต่ความสุข ความเจริญโดยทั่วกันทุกคน เทอญ...
โจ ลำน้ำปิง : นสพ.รวมพลัง ศูนย์ข่าวชลบุรี