เผยแพร่เมื่อ:
เขียนโดย Admin

พุทธยันตี


"พุทธยันตี ๒๖๐๐"



  พุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่า "ชยันตี" มาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึง ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก พุทธชยันตีจึงมีความหมายว่า เป็นการตรัสรู้  และ การบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึง ชัยชนะของพุทธสาสนาและชาวพุทธด้วย เช่น การได้รับเอกราชและมีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นครั้งแรกของชาวพุทธในประเทศศรีลังกา การฉลองปีใหม่ชาวพุทธ โดยไม่มีเหล้าสุรา ยาเสพติด สิ่งมึนเมาทั่วทั้งประเทศศรีลังกา  การเอาชนะสิ่งเลวร้ายในสังคม จนทำให้ประเทศศรีลังกามีสถิติอาชญากรรมต่ำมากๆ



  พุทธชยันตี   (बुद्ध जयंती, Buddha Jayanti)  เป็นชื่อเรียก งานเฉลิมฉลองหรือพิธีบูชา  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวาระแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยนั่นเอง พุทธชยันตีนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธนานาชาติอย่างในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลอง พุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.2500 (ถือกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล) แต่สันนิษฐานว่ามีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้ ภายหลังจากที่ประเทศศรีลังกา ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.2491 และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ (Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ได้ฟื้นฟูพุทธสาสนาในประเทศอินเดีย โดยมีการนำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม  พ.ศ. 2499 (อินเดีย ศรีลังกา นับเป็นพ.ศ.2500 เร็วกว่าไทย 1 ปี) 


  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ นอกจากนี้รัฐบาลประเทศอินเดีย ยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ด้วย สำหรับรัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ ด้วยการสร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศให้พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ โดยกำหนดให้วันพระหรือวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ  (ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2499) และมีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุดฉบับแรก เป็นต้น สำหรับการเฉลิมฉลองในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “ฉัฏฐสังคีติ” คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ระดับนานาชาติ โดยทางพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 6 แล้วได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก


   สำหรับวาระสำคัญในปีปัจจุบัน เนื่องในมหาธัมมาภิสมัย พุทธชยันตี 2,600 ปีแห่ง การตรัสรู้นั้น ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชา  2554 – วิสาขบูชา 2555 ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา 2554 ที่ผ่านมานี้ (17 พ.ค.2554) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2599 ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2,600 แห่งการตรัสรู้ โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย 45 อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สูตรการคำนวณ จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + 45) ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปีพ.ศ.2555 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ 2,600 ปีบริบูรณ์ ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา 3  ปี (2553-2555) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย เป็นต้น ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดงานในระดับภาคประชาชนกว่า 2 ปีที่ผ่านมาในวงจำกัด ส่วนในระดับรัฐบาล สมควรที่รัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช 2555 นี้ อย่างเป็นทางการ.


วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน

วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน ๖) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๓ ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้ 


ประสูติ 
๑. เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า 

ตรัสรู้
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่
๑. ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป


ปรินิพพาน 

๓. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีปของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลดเสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น

วันวิสาขบูชา จึงนับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ที่มีต่อปวงมนุษย์และสรรพสัตว์อันหาที่สุดมิได้

การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง ๓ ประการ ที่มาบังเกิดในวันเดียวกัน และนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ...




หนังสือพิมพ์รวมพลัง | รวมพลัง ทีวี

เขียนโดย Admin เวลา 21:34:00. หมวดหมู่ . แจ้งข่าวสาร / ร้องทุกข์ หรือต้องการติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ คลิกที่นี่

สนับสนุนข่าวโดย ท่าเรือLCB ฮักเกอร์ Makro paitoon สโมสรโรตารี ไทยออยล์ ปตท. SCG